สปส.พร้อมจ่ายผ่านพร้อมเพย์ทุกธนาคาร ผู้ประกันตนสะดวกรับทุกสิทธิประโยชน์ครบ 7 กรณี
สปส.พร้อมจ่ายผ่านพร้อมเพย์ทุกธนาคาร ผู้ประกันตนสะดวกรับทุกสิทธิประโยชน์ครบ 7 กรณี
https://youtu.be/TTDVOsIVFws
ในยุคที่สังคมดิจิทัลกำลังเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย ทำให้บริการต่าง ๆ ได้ถูกพัฒนาขึ้น เพื่อให้สามารถทำธุรกรรมบนอินเทอร์เน็ตได้อย่างรวดเร็วทันใจ ปัจจุบันพร้อมเพย์เป็นระบบบริการทางการเงินที่ได้รับความนิยมและเข้ามามีบทบาทในการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้คนมากขึ้น เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกแทนการเดินทางไปธนาคาร ทั้งโอนง่าย จ่ายคล่อง ไม่ต้องพกเงินสด ไม่ต้องถามเลขบัญชี ช่วยป้องกันไม่ให้เงินสดสูญหายระหว่างทางได้อีกด้วย ซึ่งถือเป็นหนึ่งในบริการสำคัญที่ทางสำนักงานประกันสังคมได้นำมาใช้ในการจ่ายประโยชน์ทดแทนให้แก่ผู้ประกันตนได้อย่างทั่วถึง
นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยว่า สำนักงานประกันสังคม เห็นถึงความสำคัญและความสะดวกรวดเร็วในการบริการด้านอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะด้านการเงินเพื่อให้ผู้ประกันตนได้เข้าถึงสิทธิประโยชน์ทดแทนได้อย่างสะดวกสบาย โดยล่าสุดทางสำนักงานประกันสังคมได้เพิ่มช่องทางการให้บริการจ่ายประโยชน์ทดแทนผ่านบริการพร้อมเพย์ทุกธนาคาร โดยครอบคลุมทั้ง 7 กรณี ได้แก่ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีคลอดบุตร กรณีทุพพลภาพ กรณีตาย กรณีสงเคราะห์บุตร กรณีชราภาพ และกรณีว่างงาน ซึ่งถือเป็นช่องทางที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกันตนมาตรา 33 มาตรา 39 และผู้มีสิทธิ ให้สามารถเข้าถึงบริการรับเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว โปร่งใสและลดความผิดพลาด โดยผู้ประกันตนไม่ต้องยื่นสำเนาหน้าบัญชีเงินฝากธนาคารกับสำนักงานประกันสังคมในการขอรับประโยชน์ทดแทนอีก ซึ่งนอกจากจะช่วยลดการใช้กระดาษตามนโยบายของรัฐบาลแล้ว การใช้ระบบพร้อมเพย์ยังช่วยให้ลดขั้นตอนการดำเนินการด้านเอกสารและลดการเดินทางไปติดต่อที่สำนักงานประกันสังคมได้อีกด้วย
ผู้ประกันตนสามารถลงทะเบียนพร้อมเพย์ได้ด้วยเลขบัตรประจำตัวประชาชนกับธนาคารที่ผู้ประกันตนเปิดบัญชีไว้ได้ทุกธนาคาร
สำหรับการยื่นเอกสารแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน ผู้ประกันตนสามารถดำเนินการได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา ทั่วประเทศ
ทั้งนี้ หากผู้ประกันตนที่ยื่นแบบคำขอแล้วไม่สะดวกรับประโยชน์ทดแทนผ่านพร้อมเพย์ ยังคงสามารถขอรับเงินผ่านธนาคารทั้ง 10 แห่งได้เหมือนเดิมเช่นกัน ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส)
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น