ข้อเสนอการประกันสังคมที่ยั่งยืน
จดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาล
เรื่อง ข้อเสนอสำหรับการประกันสังคมที่ยั่งยืน
เรียน นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
นับตั้งแต่พระราชบัญญัติประกันสังคมมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ ๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๓ จนถึงปัจจุบันโดยมีเป้าหมายเพื่อประกันสังคม คือ การสร้างหลักประกันในการดำรงชีวิตในกลุ่มของสมาชิกที่มีรายได้ และจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเพื่อรับผิดชอบเฉลี่ยความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น โดยได้รับทดแทนเมื่อประสบอันตราย หรือจากการเจ็บป่วย ทุพพลภาพ หรือตาย คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และการว่างงาน เพื่อให้ได้รับการรักษาพยาบาล และมีการทดแทนรายได้ ซึ่งการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมในระยะแรกเป็นลักษณะร่วมกันจ่ายในสัดส่วนที่เท่ากันในอัตราร้อยละ ๕ ระหว่าง ผู้ประกอบการ คนทำงาน และรัฐ โดยกำหนดค่าจ้างสูงสุดในการคำนวณจ่ายเงินสมทบรายเดือนอยู่ที่ ๑๕,๐๐๐ บาท
แต่ภายหลังจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี ๒๕๔๐ รัฐบาลได้มีการแก้ไขกฎหมายโดยลดสัดส่วนของรัฐลงเหลือร้อยละ ๒.๗๕ ประกอบกับช่วงที่ผ่านมาเกือบ ๒๐ ปี ที่รัฐค้างจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเกือบหนึ่งแสนล้านบาท เป็นเหตุให้กองทุนประสบปัญหาในเรื่องการเติบโตขาดโอกาสในการนำเงินไปลงทุนเพื่อหาประโยชน์และทำให้กระทบถึงสิทธิผู้ประกันตนที่จะเพิ่มผลประโยชน์ในแต่ละกองทุนไปด้วย
ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ ได้ส่งผลกระทบทั้งในส่วนของผู้ประกอบการ
ที่ต้องปรับลดขนาดลง บางแห่งต้องปิดกิจการส่งผลกระทบต่อคนทำงานที่อยู่ในระบบประกันสังคม แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามแก้ไขปัญหาด้วยการจัดทำโครงการต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี แต่การแก้ปัญหาก็เป็นช่วงเวลาสั้นๆ บางคนก็เข้าไม่ถึงมาตรการช่วยเหลือด้วยเงื่อนไขบางประการ รวมทั้งการช่วยเหลือผู้ประกันตน แต่ทั้งสิ้นทั้งปวงการช่วยเหลือผ่านโครงการต่างๆ รัฐบาลล้วนต้องกู้เงินจำนวนมหาศาลมาช่วยเหลือประชาชน ซึ่งส่งผลต่อภาพรวมของหนี้สาธารณะที่ประชาชนต้องร่วมกันชดใช้
เช่นเดียวกัน ในการช่วยเหลือผู้ประกอบการและผู้ประกันตนเพื่อให้กิจการและการทำงานดำเนินต่อไปได้รัฐบาลจึงได้มีมาตรการลดการจ่ายเงินสมทบของผู้ประกอบการและผู้ประกันตนลงมา อาจเป็นผลดีกับผู้ประกอบการที่จะนำจ่ายเงินสมทบน้อยลง แต่ก็ไม่เป็นผลดีต่อผู้ประกันตนและระบบประกันสังคมในระยะยาว ความต่อเนื่องนี้นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.๒๕๓๓ ซึ่งรายละเอียดตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๖๕
๑) การขยายความคุ้มครองให้กับผู้ประกันตนเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ โดยขยายอายุขั้นสูงของผู้ประกันตนตามมาตรา ๓๓ ให้ผู้รับเงินบำนาญชราภาพสามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนได้ ให้ผู้รับเงินบำนาญชราภาพสามารถขอรับเงินบำนาญจ่ายล่วงหน้าได้
๒) การแก้ไขเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพอันเกิดจากข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ใช้แรงงาน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประกันตน โดยกำหนดให้ผู้ประกันตนสามารถเลือกรับเงินบำเหน็จหรือเงินบำนาญชราภาพได้ (ขอเลือก) ในกรณีเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ สาธารณภัย หรือเหตุการณ์อื่นใดอันส่งผลกระทบต่อผู้ประกันตน ก็สามารถนำเงินสะสมกรณีชราภาพบางส่วนออกมาใช้ก่อนได้ (ขอคืน) และการนำเงินสะสมกรณีชราภาพไปเป็นหลักประกันกับสถาบันการเงินได้ (ขอกู้)
๓) การแก้ไขเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ได้แก่ เงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรจากเดิมจ่าย ๙๐ วัน เป็น ๙๘ วัน เงินทดแทนการขาดรายได้กรณีทุพพลภาพจากเดิมจ่ายร้อยละ ๕๐ เป็นร้อยละ ๗๐ กรณีสงเคราะห์บุตรให้ได้รับการคุ้มครองต่อไปอีก ๖ เดือน นับแต่วันที่สิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตน
๔) ปรับปรุงเงื่อนไขในการสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา ๓๙ และกำหนดให้เงินเพิ่มของผู้ประกันตนตามมาตรา ๓๙ จะต้องไม่เกินเงินสมทบที่ต้องจ่าย
๕) แก้ไขเพิ่มเติมในส่วนของบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการ ทั้งในส่วนของการได้มาซึ่งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน การกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม วาระการดำรงตำแหน่ง เพิ่มเติมอำนาจของคณะกรรมการในการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ รวมทั้งการบริหารจัดการพนักงานและลูกจ้าง
๖) การแก้ไขมาตรการการลงโทษทางอาญาแก่นายจ้างเพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะความผิดที่นายจ้างมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย
ซึ่งหากดูในภาพรวมแล้วก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ประเด็นที่ถกเถียงกันมากในสังคมซึ่งบางกลุ่มเห็นด้วยบางกลุ่มไม่เห็นด้วย คือ ในกรณีเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ สาธารณภัย หรือเหตุการณ์อื่นใดอันส่งผลกระทบต่อผู้ประกันตน ก็สามารถนำเงินสะสมกรณีชราภาพบางส่วนออกมาใช้ก่อนได้ (ขอคืน) และการนำเงินสะสมกรณีชราภาพไปเป็นหลักประกันกับสถาบันการเงินได้ (ขอกู้) ในส่วนกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยมองว่าจะทำให้เกิดปัญหาความไม่มั่นคงของกองทุนในระยะยาว เมื่อนำเงินออกมาใช้ก่อนแล้วทำให้จำนวนเงินในกองทุนลดลง ทำให้ขาดโอกาสในการนำเงินไปลงทุนหาประโยชน์ รวมไปถึงอนาคตของผู้ประกันตนเองเงินชราภาพที่ได้รับหลังเกษียณนั้นมีจำนวนน้อยมากอยู่แล้ว หากนำเงินมาใช้ก่อนแล้วชีวิตบั้นปลายจะอยู่อย่างไร และการนำเงินสะสมกรณีชราภาพไปเป็นหลักประกันกับสถาบันการเงินได้นั้น หากบริหารเงินผิดพลาดก็จะส่งผลต่อตนเองและกองทุนด้วยเช่นกัน และวิเคราะห์กันว่าในประเด็น ขอกู้ ขอคืนนั้น มาจากที่คนงานได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ทำให้ค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้นและ ไม่มีเงินเพียงพอที่จะยังชีพ หรือเกิดภาวะตกงานต้องการสร้างอาชีพแต่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินได้ จึงพยายามหาวิธีการเอาเงินอนาคตมาใช้ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นเรื่องที่
เข้าใจได้ ซึ่งในสิ่งที่ควรจะเป็น คือ รัฐบาลต้องทำหน้าที่ในการสร้างหลักประกัน เพิ่มรายได้ สร้างอาชีพ ให้แก่ประชาชน คุ้มครองการจ้างงานให้กับคนทำงาน เหมือนกับที่รัฐบาลได้สร้างหลักประกัน ลดรายจ่ายให้ผู้ประกอบการไปแล้วก่อนหน้านี้ และรัฐบาลต้องลดรายจ่ายค่าครองชีพของประชาชนลง ไม่ใช่มาเอาเงินออมในอนาคตของผู้ประกันตนออกมาใช้ในปัจจุบัน ซึ่งก็จะส่งผลกระทบในระยะยาวต่อกองทุนประกันสังคมและผู้ประกันตนเอง
คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.)
ได้ประชุมร่วมกัน และมีข้อเสนอต่อรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาของระบบประกันสังคมและผู้ประกันตนเพื่อความยั่งยืนดังที่เคยเสนอมาแล้วหลายครั้ง ดังนี้
๑. ต้องปฏิรูปโครงสร้างการบริหารงานสำนักงานประกันสังคม ให้เป็นอิสระ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และให้ผู้ประกันตนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
๒. รัฐต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ในสัดส่วนที่เท่ากัน ระหว่างรัฐ นายจ้าง ลูกจ้าง ตามหลักการของ พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ และรัฐต้องนำส่งเงินสมทบที่ค้างจ่ายให้ครบตามจำนวนพร้อมดอกเบี้ย เพื่อประโยชน์ของกองทุนประกันสังคม และผู้ประกันตน ซึ่งปัจจุบันรัฐค้างจ่ายสมทบประมาณ ๖๐,๐๐๐ ล้านบาท
๓. ต้องเพิ่มสิทธิประโยชน์ ให้ผู้ประกันตน มาตรา ๔๐ ให้เท่ากับ มาตรา ๓๓
๔. ต้องเปลี่ยนหลักเกณฑ์การคำนวณเงินสิทธิประโยชน์ชราภาพใหม่จากเดิม ๒๐ เปอร์เซ็นต์ของฐานเงินเดือนเฉลี่ย ๖๐ เดือนสุดท้าย เป็น ๕๐ เปอร์เซ็นต์ของฐานเงินเดือน เดือนสุดท้าย
๕. รัฐต้องจัดให้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคมชุดใหม่แทนชุดเก่าที่หมดวาระโดยเร็วซึ่งสามารถทำได้ทันทีตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.๒๕๓๓ (แก้ไข ฉบับที่ ๔ พ.ศ. ๒๕๕๘)
๖. ให้ขยายกรอบเวลาและเข้าถึงสิทธิประโยชน์ของประกันสังคมและเงินทดแทน จนสิ้นสุดการรักษาตามคำวินิจฉัยของแพทย์โดยไม่มีข้อจำกัด
๗. ให้เพิ่มอัตราค่าจ้างสูงสุดในการคำนวณการจ่ายเงินสมทบประกันสังคมจาก ๑๕,๐๐๐ บาทเป็น ๓๐,๐๐๐ บาท
๘. ต้องเร่งจัดตั้งธนาคารแรงงานหรือสถาบันการเงินของคนงาน ตามกรอบของคณะทำงานประกันสังคมเห็นชอบแล้ว เพื่อทำหน้าที่เป็นแหล่งเงินทุนให้แก่ผู้ประกันตนในการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ และการออมเงิน
๙. เร่งจัดตั้งสถาบันการแพทย์ พยาบาล และโรงพยาบาลของประกันสังคม ทำหน้าที่ในการป้องกัน รักษา ฟื้นฟูร่างกาย สุขภาพ และวินิจฉัยโรคที่เกี่ยวข้องจากการทำงาน เพื่อสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน และ บริการประชาชนทั่วไปซึ่งถือเป็นการลงทุนที่ยั่งยืนและเป็นหลักประกันในเรื่องสุขภาพ
คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)
สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.)
๕ มิถุนายน ๒๕๖๕
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น