"3 ขอ" หวังดี ?

 7 มิ.ย. 2565 ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานว่า วันนี้ (7 มิ.ย.) ที่สมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์แห่งประเทศไทย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ขบวนการสร้างเสริมสุขภาพประชาชน และเครือข่ายแรงงานข้ามชาติ จัดเสวนาหัวข้อ นโยบาย “3 ขอ” หวังดีหรือหลบเลี่ยงเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม?” 



ธนพร วิจันทร์ เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน กล่าวว่า การออกนโยบาย 3 ขอเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงการไม่มีส่วนร่วมของภาคประชาชน หรือผู้ประกันตนอย่างแท้จริง จากปัญหาที่สำนักงานประกันสังคมยื้อไม่จัดให้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) แต่ที่ผ่านมาเป็นการจัดตั้งโดยรมว.แรงงานมาตลอด เช่นชุดปัจจุบันก็สืบทอดมาจากคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตั้งแต่ปี 2558 นโยบายต่างๆ ที่ออกมาจึงขาดการมีส่วนร่วม แม้ตอนนี้เหลือเพียงไม่กี่คน อย่างไรก็ตามทราบว่า สำนักงานประกันสังคมได้มีการหารือและกำหนดไทม์ไลน์ การเลือกตั้งบอร์ดใหม่แล้ว คือเดือน มิ.ย. – ก.ค. จะมีการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ เดือน ก.ย. – ต.ค.เปิดสมัครรับเลือกตั้ง เดือนพ.ย. ประกาศหมายเลขผู้สมัคร และเลือกตั้งวันที่ 18 ธ.ค.2565 อยากเสนอให้จัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายในเดือนพ.ย.นี้ เพราะ เดือน ธ.ค. มีการประชุมระดับชาติ กังวลว่าอาจส่งผลให้เลื่อนการเลือกตั้งได้ นอกจากนี้ ขอเรียกร้องให้มีการทบทวนระเบียบแรงงานข้ามชาติ บริษัทข้ามชาติมีสิทธิ์ในการเลือกตั้งด้วย เพราะเป็นผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบเช่นเดียวกัน ทั้งนี้เครือข่ายจะมีการติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะมีกระแสว่ารมว.แรงงานจะใช้การแต่งตั้งเหมือนเดิม 


เซีย จำปาทอง ประธานสหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ การตัดเย็บเสื้อผ้า และผลิตภัณฑ์หนัง แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยกับนโยบาย 3 ขอ เพราะเงินกองทุนประกันสังคมกรณีชราภาพ เป็นเงินที่ผู้ประกันตนออมไว้ใช้ยามชรา เหตุผลที่ระบุว่าเพื่อเป็นหนึ่งทางออกสำหรับผู้ประกันตนในยามที่ต้องเจอวิกฤตินั้น เรื่องนี้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องดูแลประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียม แม้จะบอกว่าเป็นเงินเพิ่มเติมจากที่รัฐบาลจ่ายเยียวยาก็ตาม แต่ตนมองว่ารัฐต้องเยียวยาให้เพียงพอตั้งแต่แรก จึงต้องฝากให้รัฐมีการกำหนดมาตรฐานในการจัดบริการดูแลประชาชนในภาวะวิกฤติอย่างชัดเจน หากงบประมาณเยียวยาที่จัดตั้งไว้ยังไม่เพียงพอ ควรพิจารณาตัดงบประมาณในส่วนที่ไม่จำเป็นออก เช่น งบจัดซื้ออาวุธ ซึ่งถามว่าจำเป็นต้องซื้อในสถานการณ์ที่เกิดวิกฤติหรือไม่ เป็นต้น แทนที่จะมาดึงเงินออมชราภาพมาใช้ หรือกรณีขอกู้ก็เช่นเดียวกัน ที่ผ่านมาผู้ประกันตนเคยเสนอให้มีการขอกู้ผ่านสำนักงานประกันสังคมโดยตรง แต่ตอนนี้ให้มาขอกู้ผ่านธนาคาร ก็ไม่รู้ว่ามีอะไรหรือไม่ แล้วถ้าหากผู้ประกันตนไม่ใช้คืนจะทำอย่างไร เงินชราภาพก็จะหายไป ดังนั้นขอให้สำนักงานประกันสังคมทบทวนมาตรการ 3 ข.

อนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการวิทยาลัยนานาชาติ ปรีดี พนมยงค์ และ อนุกรรมการกลั่นกรองกฎหมาย การกำหนดอัตราเงินสมทบและการพัฒนาสิทธิประโยชน์ สำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า ตนเห็นด้วยให้มีการแก้ไขร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมหลายเรื่องเพื่อให้สามารถดูแลผู้ประกันตนสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน แต่การปรับตามนโยบาย 3 ขอ นั้นตนมองว่าการเอาเงินออมชราภาพร้อยละ 30หรือการขอกู้บางส่วน ช่วยแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ แต่มีผลกระทบระยะยาวต่อผู้ประกันตนและสังคมที่จะมีผู้สูงอายุที่ยากจนดูแลตัวเองทางการเงินไม่ได้เพราะใช้เงินบำเหน็จหมดใน5-10 ปี กระทบความมั่นคงของกองทุน และการเงินของผู้กู้ ซึ่งคาดว่าเงินอาจหมดกองทุนภายใน30-40 ปี แทนที่จะเป็น 75 ปี ดังนั้นขอให้พิจารณาอย่างรอบด้าน และบริหารจัดการเงินลงทุนในกองทุนโปร่งใส ได้ผลตอบแทนเหมาะสม อีกประเด็นคือขอให้เร่งจัดการเลือกตั้งบอร์ดสปส.ให้เสร็จในปี2565 แต่หากต้องการยกเครื่อง ปฏิรูปใหญ่ก็ควรปรับเปลี่ยนสำนักงานประกันสังคมจาก หน่วยราชการ มาเป็นองค์กรของรัฐ มีความอิสระแบบธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ กลต.     

“จริงๆ ควรใช้ทางเลือกอื่นที่พอมีอยู่ อาทิ การเพิ่มหรือขยายเวลาสิทธิประโยชน์การประกันการว่างงาน ลดสัดส่วนเงินสมทบ การให้เงินช่วยเหลือเยียวยา ส่วนการขอกู้หากจะทำต้องมีการตั้งธนาคารของกองทุนประกันสังคมขึ้นมา ขอย้ำว่าการดึงเงินจากกองทุนชราภาพเป็นเพียงการลดการก่อหนี้ของรัฐในวันนี้ แต่ไม่ได้มองถึงผลต่อตัวสมาชิกเองที่หลักประกันทางรายได้ยามชราภาพจะลดลง รวมทั้งผลต่อกองทุนฯ และสมาชิกคนอื่น ๆ ในอนาคต” อนุสรณ์ กล่าว

ขณะที่ บัณฑิตย์  ธนชัยเศรษฐวุฒิ นักวิชาการแรงงาน  กล่าวว่า นโยบาย 3 ขอนั้น ตนเห็นด้วยเพียงข้อเดียวคือ “ขอเลือก” ว่าจะรับบำเน็จหรือบำนาญ แต่ต้องมีเกณฑ์อายุถึง 60 ปี และมีความจำเป็นจริงๆ แต่ไม่เห็นด้วยกับ “ขอคืน” และ “ขอใช้บางส่วน” เพราะทำลายหลักการกองทุน นอกจากนี้ ตนยังขอเสนออีก 2 ขอคือ 1.ขอเพิ่มฐานค่าจ้างคิดเงินสมทบ เนื่องจาก 1.5 หมื่นบาทใช้มานานแล้วตั้งแต่ปี 2533 ขณะที่ปัจจุบันมีจำนวน 1 ส่วน 4 ของผู้ประกันตน มีรายได้เกิน 1.5 หมื่นบาท 2.ขอเพิ่มฐานอายุ เพราะ 55 ปี น้อยเกินไป และอายุการเกิดสิทธิรับบำเน็จ บำนาญ ไม่จำเป็นต้องจ่ายครบ180 เดือนก็ได้ อย่างไรก็ตามอยากเสนอให้ ปฏิรูปประสิทธิภาพการบริหารกองทุนให้อิสระ และต้องมีการเลือกตั้งบอร์ดสปส.ให้เร็วที่สุด

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อัตราผลประโยชน์เงินบำเหน็จชราภาพ ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และมาตรา 39 ปีล่าสุด 2566

หมอบูรณ์ คือใคร (ประวัติหมอบูรณ์)

อัตราผลประโยชน์ตอบแทนเงินบำเหน็จชราภาพ ม.33 และ ม.39 รวม 22 ปี พ.ศ. 2542-2563