ทายาทผู้ประกันตนเฮมีสิทธิได้รับมรดกจากผู้ประกันตนสูงสุด 60 เท่าของบำนาญชราภาพ

 

4 เม.ย.2565  นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าการแก้ไขกฎหมายร่างกฎกระทรวงฯ การจ่ายประโยชน์ทดเแทนในกรณีชราภาพ ว่า ตามที่กระทรวงแรงงานได้ส่งร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระยะเวลา และอัตราการจ่ายประโยชน์ทดเแทนในกรณีชราภาพ (ฉบับที่...) พ.ศ. .....ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาและให้ความเห็นชอบร่างกฎกระทรวงดังกล่าวแล้วเสร็จ

นายสุชาติ กล่าวต่อว่า สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระยะเวลา และอัตราการจ่ายประโยชน์ทดเแทนในกรณีชราภาพ พ.ศ.2550 โดยแก้ไขเพิ่มเติมการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีผู้รับบำนาญชราภาพถึงแก่ความตายภายใน 60 เดือน นับแต่เดือนที่มีสิทธิรับเงินบำนาญชราภาพให้มีการจ่ายเงินบำเหน็จชราภาพเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นหลักประกันและเป็นการช่วยเหลือทายาทของผู้รับบำนาญชราภาพ บุตร สามี ภรรยา บิดา มารดา หรือบุคคลซึ่งผู้ประกันตนระบุไว้เป็นผู้มีสิทธิ ให้ได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเพิ่มขึ้น จากเดิมซึ่งจะได้รับเพียงแค่ 10 เท่า ทั้งนี้ เพื่อเป็นการช่วยเหลือทายาทของผู้ประกันตน ให้ได้รับเงินมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคม ได้ปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์เพื่อครอบคลุม ดูแลคุณภาพชีวิตให้กับผู้ประกันตนอย่างทั่วถึง

ทั้งนี้ ขั้นตอนต่อไปของร่างกฎกระทรวงดังกล่าว รมว.แรงงานจะลงนามในร่างกฎกระทรวงดังกล่าว และส่งไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี จากนั้นจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้ต่อไป


ครม.อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงแรงงาน ปรับสูตรคำนวณบำเหน็จชราภาพ กรณีเสียชีวิต ให้ทายาทได้รับเงินบำเหน็จเพิ่มขึ้น

วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระยะเวลา และอัตราการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ ร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระยะเวลา และอัตราการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ พ.ศ. 2550เพิ่มเติมหลักเกณฑ์การจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ เพื่อเป็นหลักประกันแก่ผู้รับเงินบำเหน็จชราภาพ ในกรณีผู้รับเงินบำนาญชราภาพเสียชีวิตภายใน 60 เดือน นับแต่เดือนที่มีสิทธิรับบำนาญชราภาพ ให้ได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเพิ่มขึ้น ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้

1.ผู้รับบำนาญชราภาพถึงแก่ความตายภายใน 60 เดือน นับแต่เดือนที่มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพ ให้จ่ายเงินบำเหน็จชราภาพ จากเดิม 10 เท่าของเงินบำนาญชราภาพรายเดือนที่ได้รับครั้งสุดท้ายก่อนถึงแก่ความตาย เป็น “จำนวนเท่ากับจำนวนเงินบำนาญชราภาพที่ได้รับเดือนสุดท้ายก่อนถึงแก่ความตาย x จำนวนเดือนที่เหลือหลังจากผู้รับเงินบำนาญชราภาพถึงแก่ความตายจนครบ 60 เดือน

ตัวอย่างเช่น กรณีที่ผู้ประกันตนได้รับบำนาญชราภาพเดือนละ 5,250 บาท โดยได้รับมาแล้ว 20 เดือน ก่อนถึงแก่ความตาย เมื่อผู้ประกันตนเสียชีวิต ทายาทของผู้ประกันตนจะได้รับบำเหน็จชราภาพ ตามที่ร่างกฎกระทรวงฉบับใหม่กำหนด คือ 5,250 x (60-20) = 210,000 บาท จากเดิมจะได้รับ 5,250 x 10 = 52,500 บาท

2.บุคคลซึ่งถูกงดการจ่ายเงินบำนาญชราภาพ เนื่องจากกลับเข้าเป็นผู้ประกันตนและความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลงด้วยเหตุเสียชีวิต หากบุคคลนั้นได้รับเงินบำนาญชราภาพมาแล้วไม่เกิน 60 เดือน ให้จ่ายเงินบำเหน็จชราภาพ จากเดิม 10 เท่าของเงินบำนาญชราภาพรายเดือนครั้งสุดท้าย ก่อนกลับเข้าเป็นผู้ประกันตน เป็น “จำนวนเท่ากับจำนวนเงินบำนาญชราภาพที่ได้รับเดือนสุดท้ายก่อนกลับเข้าเป็นผู้ประกันตน x จำนวนเดือนที่เหลือหลังจากผู้รับเงินบำนาญชราภาพกลับเข้าเป็นผู้ประกันตนจนครบ 60 เดือน”

ตัวอย่างเช่น กรณีที่ผู้ประกันตนได้รับบำนาญชราภาพเดือนละ 5,250 บาท และได้รับเงินบำนาญชราภาพมาแล้ว 20 เดือน ต่อมากลับเข้ามาทำงาน เงินบำนาญชราภาพดังกล่าวจะถูกงดจ่าย และเมื่อผู้ประกันตนเสียชีวิต ทายาทของผู้ประกันตนจะได้รับบำเหน็จชราภาพ ตามที่ร่างกฎกระทรวงฉบับใหม่กำหนด คือ 5,250 x (60-20) = 210,000 บาท จากเดิมจะได้รับ 5,250 x 10 = 52,500 บาท

3.กำหนดให้ผู้รับบำนาญชราภาพอยู่ก่อนกฎกระทรวงฉบับนี้ใช้บังคับและรับบำนาญชราภาพมาแล้วยังไม่ครบ 60 เดือน ให้จ่ายเงินบำเหน็จชราภาพจนครบ 60 เดือน และในกรณีรับเงินบำนาญชราภาพมาแล้ว และจำนวนเดือนเหลือน้อยกว่า 10 เดือน ให้จ่ายเงินบำเหน็จชราภาพเป็นจำนวน 10 เท่าของเงินบำนาญชราภาพรายเดือนที่ได้รับเดือนสุดท้ายก่อนถึงแก่ความตาย


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อัตราผลประโยชน์เงินบำเหน็จชราภาพ ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และมาตรา 39 ปีล่าสุด 2566

หมอบูรณ์ คือใคร (ประวัติหมอบูรณ์)

อัตราผลประโยชน์ตอบแทนเงินบำเหน็จชราภาพ ม.33 และ ม.39 รวม 22 ปี พ.ศ. 2542-2563