เงินสงเคราะห์บุตร เด็กๆ ได้จากสำนักงานประกันสังคมคนละเท่าไหร?
“เนื่องในโอกาสวันเด็กแห่งชาติไทย วันที่ 8 ม.ค. 2565 พี่หมอรวบรวมเนื้อหาเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ประกันสังคมกรณีสงเคราะห์บุตรของผู้ประกันตนทุกมาตรา มาให้ผู้ประกันตนคนที่มีลูกเล็กๆ ที่ยังอายุไม่ถึง 6 ขวบได้อ่านกันในวันเด็กนี้”
สิทธิประโยชน์เงินสงเคราะห์บุตรประกันสังคม
เงินสงเคราะห์บุตร ใครได้รับสิทธิประโยชน์บ้าง? รับเท่าไหร่? แบ่งเป็น 2 กลุ่ม
กลุ่ม 1 กรณีสงเคราะห์บุตร ผู้ประกันมาตรา 33 และ มาตรา 39
จากข้อมูลประกาศกฎกระทรวง การจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตร (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ.2564 ในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 เป็นต้นมา ได้ระบุว่า ปัจจุบันเงินสงเคราะห์บุตรที่จะจ่ายให้กับบุตรของผู้ประกันตน ที่มีอายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ปี มีสิทธิได้รับเงินเดือนละ800 บาทต่อคน โดยจ่ายคราวละไม่เกิน 3 คน ซึ่งต้องเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 หรือ มาตรา 39 ตามเงื่อนไข ดังนี้
- ผู้ประกันตนมาตรา 33 คือ ผู้ที่ทำงานมีรายได้ประจำ โดยลูกจ้างและนายจ้างจ่ายเงินสมทบเข้าประกันสังคมคนละ 5% ของฐานเงินเดือนเฉลี่ย
- ผู้ประกันตนมาตรา 39 คือ เคยเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 นำส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า12 เดือนและออกจากงานไม่เกิน 6 เดือน นับแต่วันที่ลาออกจากงาน เงินที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบ คือ เดือนละ 4,800 บาทเท่ากันทุกคน โดยคิดจากอัตราเงินสมทบ 9% (4,800 x 9% = 432 บาทต่อเดือน)
- ต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน ภายในระยะเวลา 36 เดือน ก่อนเดือนที่มีสิทธิ์ได้รับประโยชน์ทดแทน สิทธิ์ที่ท่านจะได้รับเงินสงเคราะห์บุตรเหมาจ่ายเดือนละ 800 บาทต่อบุตรหนึ่งคน
- ต้องเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ยกเว้น บุตรบุญธรรมหรือบุตรซึ่งยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่น โดยต้องมีอายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ปีบริบูรณ์ จำนวนคราวละไม่เกิน 3 คน เว้นแต่ผู้ประกันตนเป็นผู้ทุพพลภาพหรือถึงแก่ความตาย ในขณะที่บุตรมีอายุแรกเกิดจนถึง 6 ปีบริบูรณ์ จะมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนต่อจนอายุ 6 ปีบริบูรณ์
กลุ่ม 2 กรณีสงเคราะห์บุตร ผู้ประกันมาตรา 40
- ผู้ประกันตนมาตรา 40 ทางเลือก 3 จ่าย 300 บาทต่อเดือน ได้รับเงินสงเคราะห์บุตรแรกเกิด ถึง 6 ปีบริบูรณ์ (ต้องจ่ายเงินสมทบ 24 ใน 36 เดือน) คนละ 200 บาท (คราวละไม่เกิน 2 คน)
หากเช็กข้อมูลแล้วตรงตามเงื่อนไขของสำนักงานประกันสังคมแล้ว สิ่งที่ต้องทำถัดมาคือการเตรียมเอกสารต่าง ๆ เพื่อยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตร
เงินสงเคราะห์บุตร 200 หรือ 800 บาท หมดสิทธิเมื่อใด?
ส่วนกรณีที่ผู้ประกันตนจะหมดสิทธิในการรับเงินสงเคราะห์บุตรนั้น มีด้วยกัน 4 กรณีที่ต้องรู้ไว้ คือ
1. เมื่อบุตรมีอายุครบ 6 ปีบริบูรณ์
2. บุตรเสียชีวิต
3. ยกบุตรให้เป็นบุตรบุญธรรมของคนอื่น
4. ผู้ประกันตนสิ้นสภาพฯ (ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง) เช่น
-ม.33 ลาออกจากงานหรือให้ออกจากงาน เกิน 6 เดือน (มาตรา 38)
-ม.39 ขาดส่งเงินสมทบเกิน 3 เดือน ติดต่อกันหรือใน 1 ปี ส่งไม่ครบ 9 เดือน (ม.41)
-ม.40 ทางเลือก 3 นับเดือนส่งเงินย้อนหลัง 36 เดือน ส่งเงินสมทบ ไม่ครบ 24 เดือน
เอกสารหลักฐานมีอะไรบ้าง? ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตรในส่วนเอกสารหรือหลักฐานที่ต้องเตรียมนั้น ประกอบด้วย 8 หัวข้อใหญ่ด้วยกันได้แก่
1. แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกองทุนประกันสังคม (สปส. 2-01)
2. กรณีผู้ประกันตนเคยยื่นใช้สิทธิแล้วและประสงค์จะใช้สิทธิสำหรับบุตรคนเดิม ให้ใช้หนังสือขอใช้สิทธิบุตรคนเดิมกรณีกลับเข้าเป็นผู้ประกันตน จำนวน 1 ฉบับ
3. กรณีผู้ประกันตนหญิงใช้สิทธิ : สำเนาสูติบัตรบุตร (กรณีคลอดบุตรแฝดให้แนบสำเนาสูติบัตรของคู่แฝดด้วย) จำนวน 1 ชุด
4. กรณีผู้ประกันตนชายใช้สิทธิ
4.1) สำเนาทะเบียนสมรส หรือสำเนาทะเบียนหย่าพร้อมบันทึกแนบท้ายของผู้ประกันตนหรือสำเนาทะเบียนรับรองบุตร หรือสำเนาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย จำนวน1 ชุด
4.2) สำเนาสูติบัตรบุตร (กรณีคลอดบุตรแฝดให้แนบสำเนาสูติบัตรของคู่แฝดด้วยจำนวน 1 ชุด)
5. กรณีเปลี่ยนชื่อ ชื่อสกุลให้แนบสำเนาเอกสารใบเปลี่ยนชื่อ ชื่อสกุลด้วย จำนวน 1 ชุด
6. กรณีผู้ประกันตนต่างชาติขอรับประโยชน์ทดแทนให้ใช้สำเนาบัตรประกันสังคมและสำเนาหนังสือเดือนทาง (passport) หรือสำเนาหนังสือเดินทางชั่วคราวหรือเอกสารรับรองบุคคลที่ทางราชการออกให้จำนวน 1ชุด
7. สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์หน้าแรกที่มีชื่อและเลขที่บัญชีของผู้ยื่นคำขอจำนวน 1 ฉบับ ผ่านทางบัญชีธนาคารของผู้ประกันตน ดังนี้
- ธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน)
- ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด(มหาชน)
- ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน)
- ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารกสิกรไทย จำกัด(มหาชน)
- ธนาคารทหารไทย จำกัด(มหาชน)
- ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย
- ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด(มหาชน)
8. เอกสารประกอบการยื่นคำขอฯ ที่เป็นสำเนาให้รับรองความถูกต้องของสำเนาทุกฉบับ และแสดงเอกสารที่เป็นต้นฉบับเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ขอตรวจสอบ กรณีเอกสารหลักฐานสำคัญต่อการพิจารณาเป็นภาษาต่างประเทศให้จัดทำคำแปลเป็นภาษาไทยและรับรองความถูกต้องให้ครบถ้วน
วิธีลงทะเบียนขอสิทธิรับ "เงินสงเคราะห์บุตร" จากสำนักงานประกันสังคม
เมื่อผู้ประกันตนเตรียมเอกสารเรียบร้อยตามที่กล่าวข้างต้นแล้ว มาถึงขั้นตอนในการลงทะเบียนขอสิทธิรับ "เงินสงเคราะห์บุตร" จาสำนักงานประกันสังคมนั้น มี 4 วิธีให้ได้ศึกษากัน
- ผู้ประกันตนต้องกรอกแบบ สปส.2-01 พร้อมลงลายมือชื่อและนำมายื่นที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/สำนักงานประกันสังคมจังหวัดและสาขา หรือยื่นขอรับทางไปรษณีย์โดยมีหลักฐานครบถ้วน (กรณีผู้ประกันตนยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตรสำหรับบุตร 3 คน ในคราวเดียวกันสามารถใช้แบบคำขอฯ ชุดเดียวกันได้)
- เจ้าหน้าที่ตรวจหลักฐานและพิจารณาอนุมัติ
- สำนักงานประกันสังคมมีหนังสือแจ้งผลการพิจารณา
- พิจารณาสั่งจ่าย จ่ายเป็นรายเดือนโดยโอนเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์ของผู้ขอรับประโยชน์ทดแทน
วิธีตรวจสอบเงินสงเคราะห์บุตร
- ดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น SSO Connect หรือเข้าเว็บไซต์ https://www.sso.go.th/eform_news/
- จากนั้นให้เข้าสู่ระบบ หากยังไม่ได้เป็นสมาชิกสามารถสมัครผ่านระบบก่อน สำหรับผู้ที่เข้าผ่านแอปพลิเคชั่นให้กดเลือกเมนู "การเบิกสิทธิประโยชน์"
- ส่วนผู้ที่เข้าผ่านเว็บไซต์กดเลือกเมนู "การใช้สิทธิประโยชน์ทดแทน" ระบบจะแสดงรายการจ่ายเงินสงเคราะห์บุตรเป็นรายเดือนไว้ให้ตามสิทธิของผู้ประกันตน
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น