บทความนี้อาจจะเป็นบรรทัดฐานของการพิมพ์ลายนิ้วมือของผู้ต้องหาคดีการเมือง
ผู้ต้องหาทางการเมืองที่ไป สน. มักได้ภาพถ่าย "มือดำ" กลับมา เพราะถูกบังคับให้พิมพ์ลายนิ้วมือ ให้ความรู้สึกเหมือนถูกตีตรา เห็นบ่อยๆ แล้วไม่สบายใจเท่าไร จึงอยากลองผลักดันดูว่า ไม่พิมพ์ลายนิ้วมือได้ไหม
หมอบูรณ์ เคยถูกพิมพ์ลายนิ้วมือแบบนี้ ทั้งหมด 8 ครั้ง จากสถานีตำรวจนครบาลดังต่อไปนี้ ปทุมวัน ลุมพินี ทุ่งมหาเมฆ บางซื่อ ดุสิต นางเลิ้ง ดินแดง และ ล่าสุดตามภาพคือทองหล่อ เพิ่งได้มาอ่านบทความที่แสนจะประทับใจของคุณยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ในการไม่พิมพ์ลายนิ้วมือประกอบการสอบสวน เข้าใจความรู้สึกของผู้เขียนเป็นอย่างยิ่ง ขอให้บทความนี้เป็นผลให้กระบวนการสอบสวนมีการปรับปรุงดีขึ้นด้วย
.
23 ก.ย. 64 ไปรายงานตัวคดีปราศรัยในการชุมนุม #ม็อบ3กันยา ที่สี่แยกราชประสงค์ ที่สน.ลุมพินี ซึ่งเป็นครั้งที่สองที่ไปสน. นี้ เจอพนักงานสอบสวนคนเดิม และรองผู้กำกับสน.ชื่อสมัคร คนเดิมมายืนคุมงาน ไปถึงคนแรกๆ แต่เขาบอกให้รอ เพื่อจะได้เจอพนักงานสอบสวนเจ้าของคดีเท่านั้น ชื่อเทอดศักดิ์ ซึ่งมีบุคลิกสุภาพ สุขุม ใจเย็น พี่สมัครเค้าไม่ต้องการให้ผมเจอพนักงานสอบสวนคนอื่น เพราะครั้งก่อนเคยคัดค้านอำนาจพนักงานสอบสวนไว้
ระหว่างการสอบสวนในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม #พรกฉุกเฉิน ก็มีปัญหาหลายอย่าง [ซึ่งขอข้ามไปก่อน] พอสอบสวนเสร็จเขาก็บอกว่าให้ไปพิมพ์ลายนิ้วมือ แต่วันนี้ผมเตรียมการมาจากบ้านแล้ว จึงแจ้งว่าปฏิเสธขอไม่พิมพ์ เทอดศักดิ์ทำหน้างง แล้วแจ้งว่าถ้าไม่พิมพ์ลายนิ้วมือต้องแจ้งข้อกล่าวหาอีก ผมถามว่าข้อกล่าวหาว่าอะไร ตามมาตราไหน เทอดศักดิ์ไม่ได้ตอบ
ตำรวจอีกคนชื่อสุเทพ เดินมาถามว่าทำไมไม่พิมพ์ แล้วพี่สมัครก็เข้ามาสมทบ แล้วก็มีตำรวจอีกคนไม่เห็นป้ายชื่อเดินวนไปวนมาคอยสมทบ รวมเป็น 4 รุม 1 จริงๆ เป็นหน้าที่ของตำรวจมากกว่าที่ต้องอธิบายเหตุผลว่า ทำไมต้องพิมพ์ ผมตอบว่าคดีก่อนหน้านี้เคยพิมพ์แล้ว ไม่เห็นความจำเป็นต้องพิมพ์อีก ตำรวจบอกว่า ไม่เกี่ยว มันคนละคดี ผมยืนยันให้ไปใช้ข้อมูลเดิมที่มีอยู่แล้ว
ผมถามกลับบ้างว่า จะพิมพ์ทำไม ตำรวจบอกว่า เป็นขั้นตอนปกติ ที่ตำรวจต้องเอาไปใช้ส่งอัยการ ถ้าไม่มีลายนิ้วมือไปด้วยอัยการจะไม่รับคดี ถ้าไม่มีลายนิ้วมือต้องมีเอกสารคดีที่เอาผิดฐานไม่พิมพ์นิ้วมืออีกฉบับ ผมบอกว่านั่นเป็นปัญหาของตำรวจอัยการ ไม่ใช่เหตุผลมาเพิ่มภาระให้ผู้ต้องหา เพราะเอกสารที่ให้ไว้กับหน่วยงานของรัฐแล้วคุณก็ต้องไปเชื่อมข้อมูลเอง ผมไม่เคยปฏิเสธการร่วมกระบวนการสอบสวน และยินดีให้ลายนิ้วมือเพื่อการสอบสวนเท่าที่จำเป็น
ตำรวจชื่อสุเทพ บอกให้เข้าใจตำรวจบ้างว่า ต้องใช้หลักฐานเพื่อตามจับตัว เข้าใจว่านี่เป็นคดีการเมือง แต่ถ้าเป็นคดีฆ่าข่มขืน ไม่ให้ตำรวจมีลายนิ้วมือแล้วหนีไปจะทำยังไง? ผมตอบได้ว่า คดีที่จำเป็นก็ต้องเก็บลายนิ้วมือผู้ต้องหาได้ แต่คดีนี้ผมรับว่าไปร่วมการชุมนุมและขึ้นปราศรัยจริง ตามภาพถ่ายที่ตำรวจถ่ายมาแล้ว จึงไม่ต้องเอาลายนิ้วมือผมไปพิสูจน์ตัวตนอีก และถามว่า จะเอาลายนิ้วมือผมไปเทียบกับสิ่งของในที่เกิดเหตุชิ้นใด เพื่ออะไร เทอดศักดิ์ตอบไม่ได้ สุเทพจึงมาช่วยอีกว่า ต้องใช้ลายนิ้วมือเพื่อดูประวัติว่าใครเคยต้องโทษอะไรมาก่อนบ้างหรือไม่ ผมบอกให้ใช้ชื่อจริงนามสกุลก็ได้ ไม่มีเหตุต้องใช้ลายนิ้วมือ
คราวนี้พี่สมัครก็มาพูดอีก เหมือนจะรู้จังหวะถ้าอยากให้ร้อนตัวเองต้องมา พี่สมัครอ้างว่า เป็นอำนาจของพนักงานสอบสวนที่จะให้พิมพ์ (เบื่อเหลือเกินเวลาคนอ้างอำนาจลอยๆแบบนี้) แล้วก็ได้ยินเสียงพี่สมัครหันไปเรียกทนายความบอกมาช่วยอธิบายให้ผมพิมพ์ลายนิ้วมือหน่อย แต่ทนายคนนั้นดันเป็นทนายรอน ใส่สูทอย่างหล่อมาวันนี้ ทนายรอนอธิบายโดยอ้างหนังสืออ.เกียรติขจรว่า ถ้าผู้ต้องหาไม่ประสงค์จะพิมพ์ ในคดีที่ไม่จำเป็น ก็ไม่พิมพ์ได้ สุเทพบอกว่าให้ไปเอาหนังสือมาเปิด
ทนายรอนตั้งประเด็นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 131 ว่า พนักงานสอบสวนมีหน้าที่รวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อจะรู้ตัวผู้ต้องหา แต่คดีนี้รู้ตัวผู้ต้องหาแล้ว คือ ผมเอง และรับแล้วว่าไปร่วมชุมนุมจริง พนักงานสอบสวนจึงไม่มีอำนาจในการสั่งให้พิมพ์ลายนิ้วมืออีก
พี่สมัครบอกว่า จะตีความอำนาจตำรวจอย่างไรให้ไปว่ากันที่ศาล และบอกให้พี่เทอดศักดิ์ตั้งข้อกล่าวหาผมอีกข้อหาหนึ่งเป็นคดีต่างหากในวันนี้เลยว่า ฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงาน ผมถามว่า มาตรา 368 ใช่หรือไม่ พี่สมัครบอกจำเลขมาตราไม่ได้ ทนายรอนถามพี่สมัครว่า ถ้าจะกล่าวหาว่าฝ่าฝืนคำสั่ง ต้องอธิบายได้ว่า ท่านมีอำนาจตามกฎหมายอะไรที่จะออกคำสั่ง พี่สมัครบอกว่ามีอำนาจ แต่พอถามว่ากฎหมายอะไรมาตราอะไร ตอบไม่ได้ แล้วขอตัวไปหา แล้วพี่สมัครก็กลับมาพร้อมเอกสารหนึ่งแผ่น ปริ้นท์มาให้พี่เทอดศักดิ์ บอกว่ามีหนังสือเวียนภายใน แต่ไม่เอาให้ผู้ต้องหาดูด้วย ผมไม่ได้ขอดูเพราะรู้ว่าไม่มีสาระ
พี่สุเทพได้ยกข้อกฎหมายขึ้นมาขู่ โดยอ้างประกาศคณะปฏิวัติ (คปค.) ที่มีโทษสำหรับคนไม่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือ ซึ่งที่จริงศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งแล้วว่าประกาศนี้ขัดรัฐธรรมนูญ ในคดีก่อนหน้านี้ที่พี่สมัครเป็นพนักงานสอบสวนเอง ตั้งข้อหาต่อ รังสิมันต์ โรม ผมก็ยิ้มให้พี่สุเทพถามว่า เอาเป่า? จริงเป่า? จะเอาข้อหานี้จริงเป่า? แต่พี่สุเทพไม่ไปต่อ ถ้าพี่สุเทพไปต่อผมจะเปิดคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญให้ดู แล้วท้าให้พี่สุเทพตั้งข้อหาตามนั้น ผมคงแจ้งความกลับวันนี้เลย และคงไม่ได้กลับบ้านกันง่ายๆ แต่พี่สุเทพถอย และพี่สมัครก็รู้ทั้งรู้ หวังว่าจะรู้จักไปเบรกลูกน้องตัวเองข้างหลังบ้าง
และพี่เทอดศักดิ์ ก็แสดงความเป็นคนที่เหมาะกับการเป็นพนักงานสอบสวนของผมอย่างยิ่ง โดยหันมาบอกผมเบาๆ ว่า เดี๋ยววันหลังจะโทรเรียกให้มาใหม่ เพื่อรับทราบข้อหาฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานก็แล้วกัน เอาเป็นว่า วันนี้ผมยังไม่โดนตั้งข้อหาอะไรเพิ่ม
แต่ผมเองก็เตรียมตัวมาแล้ว จึงยื่นเอกสารแสดงเหตุผลอันสมควร ของการปฏิเสธไม่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือให้ติดไว้ในสำนวน และหวังว่าพี่เทอดศักดิ์จะเอาเอกสารนี้ไปแสดงต่ออัยการแทนการพิมพ์ลายนิ้วมือของผมได้ หนังสือที่ผมยื่นวันนี้มีรายละเอียดตามด้านล่างสุด แปะไว้ให้ดูเผื่อใครจะเอาไปใช้บ้าง
วันนี้กลับบ้านได้โดยไม่ต้องพิมพ์ลายนิ้วมือ
หวังว่า ถ้าตำรวจศึกษาข้อกฎหมายแล้วตัดสินใจไม่ตั้งข้อหาเพิ่มกับผม จะเป็นหมุดหมายว่า ผู้ต้องหาคนอื่นในคดีที่ไม่จำเป็นแล้วก็ไม่ต้องพิมพ์ก็ได้ แต่ถ้าตำรวจตั้งข้อหาม.386 ก็พร้อมอย่างยิ่งที่จะสู้คดี คดีศาลแขวง คงใช้เวลาไม่นาน หากชนะคดีได้ คนอื่นก็ปฏิเสธไม่ต้องพิมพ์ลายนิ้วมือได้เช่นกัน หากแพ้คดีโทษก็ไม่สูงเกินไป รับไหว แค่เป็นห่วงมาตรฐานที่จะตามมา
ป.ล. ยังมีอีกหลายข้อถกเถียงในคดีนี้ เหนื่อยเหมือนกัน
ป.ล.2 พี่ทนายอาวุโส ที่เป็นทนายอาสานั่งอยู่โต๊ะข้างๆ หันมาชมว่า ทำการบ้านมาดีมาก พร้อมบอกว่า "ผมเคยสู้ตั้งแต่ 14 ตุลาฯ ตอนนี้ถึงตารุ่นคุณ" ผมบอกว่า "ไม่ๆ ต้องสู้ด้วยกันต่อ"
ป.ล.3 ก่อนหน้านี้ไป สน. ไอ้รอนไม่ว่าง ถ้าเห็นแก่ตำรวจ ขอให้รอนไม่ว่างไปคดีผมอีก ถ้ารอนว่างไปคดีผมอีก ก็ไม่รู้จะทำยังไงเพื่อช่วยตำรวจดี
ป.ล.4 ผลพวงจากการที่ดันเส้นไว้ในคดีที่แล้ว เหตุการณ์เหล่านี้ผู้ไว้วางใจของผมจึงบันทึกวิดีโอบทสนทนาไว้ทั้งหมด ไว้พอคดีจบแล้วจะขายให้ไก่ไปทำสารคดี ขณะที่ตำรวจก็ตั้งกล้องบันทึกของเขาด้วย
ป.ล.5 นี่ไม่สนุกนะ อย่าคิดว่าสนุก แค่คิดว่าควรทำ
....................................................
ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 ผู้ใดทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานซึ่งสั่งการตามอำนาจที่มีกฎหมายให้ไว้ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้นโดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบวัน หรือปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 131 ให้พนักงานสอบสวนรวบรวมหลักฐานทุกชนิด เท่าที่สามารถจะทําได้เพื่อประสงค์จะทราบข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่าง ๆ อันเกี่ยวกับความผิดที่ถูกกล่าวหา เพื่อจะรู้ตัวผู้กระทําผิดและพิสูจน์ให้เห็นความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา
คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 2/2562 เรื่องประกาศ คปค. ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
https://www.constitutionalcourt.or.th/occ_web/download/article/article_20190314113921.pdf
....................................................
หนังสือที่ยื่นไปวันนี้ มีรายละเอียดดังนี้
วันที่ 23 กันยายน 2564
เรียน พ.ต.ท.เทอดศักดิ์ มนัสชน พนักงานสอบสวนสน.ลุมพินี
เรื่อง แจ้งเหตุการไม่พิมพ์ลายนิ้วมือประกอบการสอบสวน
ข้าพเจ้า นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้ต้องหาตามหมายเรียกในคดีอาญาที่ 504/2564 ได้มาพบพนักงานสอบสวนที่สถานีตำรวจนครบาลลุมพินี ตามวันเวลาที่นัดหมายไว้ในหมายเรียก คือ วันที่ 23 กันยายน 2564 เวลา 10.00 น. ข้าพเจ้าขอเรียนให้ทราบดังต่อไปนี้�
1. ข้าพเจ้าเคยมาพบพนักงานสอบสวนที่สถานีตำรวจแห่งนี้ เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาในอีกคดีหนึ่งที่มีข้อกล่าวหาทำนองเดียวกันแล้วเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2564 โดยมาพบกับพนักงานสอบสวนคนเดียวกัน คือ พ.ต.ท.เทอดศักดิ์ มนัสชน และร.ต.อ.สุทวัฒน์ ศรีพรวรรณ์ ในกระบวนการรับทราบข้อกล่าวหาในวันดังกล่าว ข้าพเจ้าได้พิมพ์ลายนิ้วมือไว้ให้กับพนักงานสอบสวนที่สถานีตำรวจแห่งนี้แล้ว หลังจากนั้นข้าพเจ้าได้มารายงานตัวตามนัดของพนักงานสอบสวน และพนักงานสอบสวนส่งตัวให้พนักงานอัยการเรียบร้อยแล้ว ข้าพเจ้ายังคงไปพบพนักงานอัยการตามนัดทุกครั้ง จนถึงวันนี้พนักงานอัยการยังไม่ได้มีคำสั่งคดีไปทางใด พฤติการณ์เหล่านี้ปรากฏชัดแก่พนักงานสอบสวนทั้งสองท่านแล้ว�
2. ข้าพเจ้าทราบว่า วัตถุประสงค์ของการพิมพ์ลายนิ้วมือกับพนักงานสอบสวนนั้น เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการติดตามตัวผู้ต้องหา หากผู้ต้องหาหลบหนีไม่มารายงานตัวตามนัดในคดีนั้นๆ รวมทั้งเป็นหลักฐานหากต้องมีการพิสูจน์ลายนิ้วมือ หรือตัวตนของผู้ต้องหาเปรียบเทียบกับพยานหลักฐานในที่เกิดเหตุ ข้าพเจ้าไม่ปฏิเสธวัตถุประสงค์ในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมดังกล่าวนี้ จึงเคยยินยอมพิมพ์ลายนิ้วมือของข้าพเจ้าไว้กับสน.ลุมพินีแล้วหนึ่งครั้ง อย่างไรก็ดีในคดีนี้ข้าพเจ้ามารายงานตัวเองตามหมายเรียก และด้วยลักษณะข้อหาเป็นคดีที่มีโทษไม่สูง และศาลไม่มีแนวโน้มที่จะพิพากษาให้ลงโทษจำคุก ประกอบกับเป็นคดีที่เกิดขึ้นจากการแสดงออกทางการเมือง ข้าพเจ้าจึงไม่มีเหตุผลและไม่มีพฤติการณ์ที่จะหลบหนี และข้าพเจ้าก็ยอมรับในชั้นสอบสวนว่าได้ไปร่วมชุมนุมในวันเวลาตามที่ถูกกล่าวหาและกล่าวปราศรัยในการชุมนุมจริง สำหรับคดีนี้ จึงไม่มีความจำเป็นใดที่พนักงานสอบสวนต้องพิสูจน์ลายนิ้วมือของข้าพเจ้าในที่เกิดเหตุอีก
3. จากประสบการณ์ที่ข้าพเจ้าเป็นผู้ต้องหา และเป็นทนายความในชั้นสอบสวนหลายคดี ข้าพเจ้าทราบว่ากระบวนการพิมพ์ลายนิ้วมือนั้นเสียเวลาโดยไม่จำเป็น โดยเฉพาะในคดีที่มีผู้ต้องหาหลายคน เมื่อรับทราบข้อกล่าวหาแล้วต้องค่อยๆ ต่อคิวเพื่อพิมพ์ลายนิ้วมือทีละคน เป็นกระบวนการที่ใช้เวลามาก เจ้าหน้าที่ต้องใช้มือของเจ้าหน้าที่จับมือของผู้ต้องหาวางบนแป้นหมึกทีละคน และจับมือวางบนกระดาษ ซึ่งแป้นหมึกดังกล่าวใช้ร่วมกันสำหรับผู้ต้องหาทุกคนและทำให้ผู้ต้องหาต้องมือเลอะ แม้เจ้าหน้าที่จะมีผ้าให้เช็ดมือ แต่ก็เป็นผ้าเช็ดมือที่ใช้ต่อๆ กัน และใช้ร่วมกันกับผู้ต้องหาหลายคนในคดีอื่นๆ โดยไม่ทราบว่า ได้ซักผ้าผืนดังกล่าวเมื่อใด โดยเฉพาะในภาวะที่มีโรคระบาดที่ติดต่อกันได้จากการสัมผัสกันและการใช้ของใช้ร่วมกัน ยิ่งควรหลีกเลี่ยงกระบวนการดังกล่าว นอกจากนี้ข้าพเจ้าเคยสอบถามเจ้าหน้าที่ตำรวจที่รับผิดชอบการจัดพิมพ์ลายนิ้วมือของสถานีตำรวจหลายแห่ง รวมทั้งที่สน.ลุมพินี ในการมารายงานตัวเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2564 ว่า กระบวนการพิมพ์ลายนิ้วมือมีประโยชน์อะไรบ้าง เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบก็แสดงความรู้สึกตรงกันว่า เป็นการเสียเวลา และเป็นขั้นตอนที่เพิ่มภาระให้กับเจ้าหน้าที่เกินจำเป็น
4. เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2562 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 2/2562 ว่า ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิไตยอันมีพระมหหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 25 เรื่องการดำเนินการเกี่ยวกับการยุติธรรมทางอาญา ในส่วนที่เป็นความผิดและโทษอาญาจากการปฏิเสธไม่พิมพ์ลายนิ้วมือนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ โดยเหตุผลของศาลรัฐธรรมนูญตอนหนึ่ง ระบุว่า “การพิมพ์ลายนิ้วมือเป็นสิทธิพื้นฐานเฉพาะตัวของบุคคลไม่ต่างไปจากการลงลายมือชื่อ ซึ่งแม้จะเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยแล้วก็ตาม แต่ตราบใดที่ยังไม่มีคำพิพากษาว่าเป็นผู้กระทำผิดย่อมถือว่ายังเป็นผู้บริสุทธิ์ สิทธิดังกล่าวจึงย่อมได้รับความคุ้มครอง แม้กฎหมายจะบัญญัติให้เป็นหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม แต่ย่อมไม่อาจถือเป็นความผิดทางอาญาในฐานที่ไม่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือ ลายมือ หรือลายเท้าได้ รัฐชอบที่จะหาวิธีการที่เหมาะสมเพื่อบังคับการให้ผู้ต้องหาที่ไม่ยอมปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนต้องเกิดภาระหรือความรับผิดได้เพียงเท่าที่จำเป็น และพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น หลักการนี้ได้บัญญัติรับรองไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 131/1...”
5. เมื่อครั้งที่ข้าพเจ้าไปทำบัตรประชาชนใบปัจจุบันที่ถืออยู่ ที่สำนักงานเขตพญาไท ในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2563 และหลายครั้งก่อนหน้านั้น ข้าพเจ้าได้พิมพ์ลายนิ้วมือให้กับเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเขตแล้ว โดยพิมพ์ลงในอุปกรณ์ที่เป็นระบบคอมพิวเตอร์ เมื่อวางนิ้วมือบนเครื่องแล้วจะปรากฎเป็นข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ของเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้ สถานีตำรวจนครบาลลุมพินี ซึ่งเป็น “หน่วยงานของรัฐ” ตามพ.ร.บ.การบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ.2562 ก็มีหน้าที่บริหารงานและการจัดทำบริการสาธารณะในรูปแบบและช่องทางดิจิทัล ตามาตรา 4 การให้พิมพ์ลายนิ้วมือด้วยแท่นหมึกบนกระดาษ จึงเป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายดังกล่าว นอกจากนี้หากทางสถานีตำรวจนครบาลลุมพินี ต้องการข้อมูลลายพิมพ์นิ้วมือของข้าพเจ้าก็สามารถเชื่อมโยงข้อมูลดิจิทัลมาจากกรมการปกครองได้ ตามมาตรา 13 หรืออย่างน้อยที่สุดก็ใช้ข้อมูลจากเอกสารเก่าที่ข้าพเจ้าเคยมอบไว้ให้แล้วเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2564 ได้ โดยไม่มีเหตุจำเป็นต้องให้ข้าพเจ้าพิมพ์ลายนิ้วมือใหม่อีกครั้งบนแป้นหมึกและแผ่นกระดาษ
ข้าพเจ้าไม่มีเจตนาขัดขวางหรือสร้างอุปสรรคในกระบวนการสอบสวน แต่มีเจตนาต้องการเห็นกระบวนการที่สะดวกสำหรับทุกฝ่าย และไม่เป็นภาระกับผู้ต้องหาเกินจำเป็น การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจสั่งให้ข้าพเจ้าพิมพ์ลายนิ้วมืออีกครั้งในวันนี้ ข้าพเจ้าเห็นว่า เป็นคำสั่งที่ไม่มีเหตุผลสมควร เป็นการปฏิบัติขั้นตอนที่ไม่จำเป็นซ้ำซ้อนกันให้เสียเวลาทั้งผู้ต้องหาและเจ้าหน้าที่ จึงเป็นคำสั่งที่ข้าพเจ้าขอปฏิเสธไม่ปฏิบัติตามด้วยเหตุผลดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
ลงชื่อ ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้ต้องหา
ขอบคุณบทความดีๆ
https://www.facebook.com/100000620045796/posts/4575604662470157/?sfnsn=mo
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น