เปลี่ยนใจ หรือเลือกผิด ม.40 แก้ไขอย่างไร?
วิธีการเมื่อต้องการเปลี่ยนทางเลือกผู้ประกันตนมาตรา 40 ม. 40 (แผน) ต้องทำอย่างไร
ประกันสังคม มาตรา 40 อยากเปลี่ยนทางเลือกทำได้ไหม เราสามารถยื่นขอเปลี่ยนทางเลือกจ่ายเงินสมทบได้ที่สำนักงานประกันสังคม ปีละ 1 ครั้ง โดยเมื่อยื่นขอเปลี่ยนแปลงทางเลือกแล้วจะมีผลในเดือนถัดไป
คลิปอธิบาย
ประกันสังคม มาตรา 40 ใครสามารถสมัครได้บ้าง
******#มาตรา40 #ทางเลือก 3 เปิดรับแล้วนะค่ะ*****
ผู้ที่จะสมัครประกันสังคม มาตรา 40 ได้นั้น ต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
1. เป็นผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระ หรือแรงงานนอกระบบ
2. มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ แต่ไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์
3. ต้องเป็นบุคคลที่ไม่ได้เป็นลูกจ้างในบริษัทเอกชนตามประกันสังคมมาตรา 33 และไม่เคยสมัครเป็นผู้ประกันตนในมาตรา 39 (บุคคลที่เคยทำงานอยู่ในบริษัทเอกชนในมาตรา 33 มาก่อนแล้วลาออกแต่ต้องการรักษาสิทธิประกันสังคมไว้)
4. ไม่เป็นข้าราชการหรือบุคคลที่ถูกยกเว้นตามกฎหมายประกันสังคม
5. บุคคลพิการที่สามารถรับรู้สิทธิประกันสังคม
ทางเลือกในการจ่ายเงินสมทบ และสิทธิประโยชน์ที่ได้รับ
ปัจจุบันผู้ประกันตนสามารถเลือกรูปแบบจ่ายเงินสมทบได้ทั้งหมด 3 รูปแบบ จากเดิมที่เลือกได้เพียง 2 แบบ
--------------------------------------------------------------------------
ทางเลือกที่ 1 : ผู้ประกันตนจ่ายสมทบ 70 บาท รัฐจ่ายสมทบ 30 บาท รวมเป็นจ่ายสมทบ 100 บาท ซึ่งรับสิทธิประโยชน์พื้นฐานคุ้มครอง 3 กรณี คือ เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อเจ็บป่วย เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อทุพพลภาพ และเงินค่าทำศพ
สิทธิประโยชน์ที่ได้รับ
1. เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อเจ็บป่วยและนอนโรงพยาบาล เพิ่มให้เป็น 300 บาท/วัน จากเดิม 200 บาท/วัน กำหนดไม่เกิน 30 วันต่อปี รวมถึงได้เพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีถ้าไม่ได้นอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล (ผู้ป่วยนอก) แต่มีใบรับรองแพทย์สั่งให้หยุดงานตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป จะได้รับเงินชดเชยวันละ 200 บาท ไม่เกิน 30 วันต่อปี และกรณีแพทย์สั่งให้หยุดพักไม่เกิน 3 วัน จะได้ครั้งละ 50 บาท ไม่เกิน 3 ครั้งต่อปี
2. เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อทุพพลภาพ ยังให้สิทธิตามเดิม คือ ได้รับเงินทดแทน 500-1,000 บาท/เดือน เป็นเวลานาน 15 ปี โดยมีเงื่อนไข คือ
- จ่ายเงินสมทบครบ 6 เดือน ภายใน 10 เดือน ก่อนเป็นผู้ทุพพลภาพ จะได้รับเงินทดแทน 500 บาท/เดือน
- จ่ายเงินสมทบครบ 12 เดือน ภายใน 20 เดือน ก่อนเป็นผู้ทุพพลภาพ จะได้รับเงินทดแทน 650 บาท/เดือน
- จ่ายเงินสมทบครบ 24 เดือน ภายใน 40 เดือน ก่อนเป็นผู้ทุพพลภาพ จะได้รับเงินทดแทน 800 บาท/เดือน
- จ่ายเงินสมทบครบ 36 เดือน ภายใน 60 เดือน ก่อนเป็นผู้ทุพพลภาพ จะได้รับเงินทดแทน 1,000 บาท/เดือน
3. ได้รับเงินค่าทำศพ จำนวน 25,000 บาท และได้เพิ่มเงินสงเคราะห์ให้อีก 3,000 บาท เมื่อจ่ายเงินสมทบมาแล้ว 60 เดือน
--------------------------------------------------------------------------
ทางเลือกที่ 2 : ผู้ประกันตนจ่ายสมทบ 100 บาท รัฐจ่ายสมทบ 50 บาท รวมเป็นเงินสมทบ 150 บาท ได้รับสิทธิประโยชน์พื้นฐานคุ้มครอง 4 กรณี คือ เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อเจ็บป่วย เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อทุพพลภาพ เงินค่าทำศพ และเงินบำเหน็จชราภาพ
สิทธิประโยชน์ที่ได้รับ
1. เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อเจ็บป่วย เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อทุพพลภาพและเงินค่าทำศพจะได้รับเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับทางเลือกที่ 1
2. ส่วนเงินบำเหน็จชราภาพยังคงได้รับเหมือนเดิมซึ่งจะได้รับเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ และลาออกจากการเป็นผู้ประกันตน โดยต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 เดือน ซึ่งเงินบำเหน็จจะคำนวณจากเงินที่รัฐบาลอุดหนุนเดือนละ 50 บาท นำมาคูณด้วยระยะเวลาที่ผู้ประกันตนส่งเงินสมทบและบวกด้วยเงินผลกำไรที่สำนักงานประกันสังคมนำเงินส่วนนี้ไปลงทุน
--------------------------------------------------------------------------
ทางเลือกที่ 3 : เป็นตัวเลือกที่เพิ่มเข้ามาใหม่ เพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แรงงานนอกระบบ ใกล้เคียงกับแรงงานในระบบมากขึ้น โดยให้ผู้ประกันตนจ่าย 300 บาท รัฐจ่ายสมทบ 150 บาท รวมเป็นเงินสมทบ 450 บาท ได้รับสิทธิประโยชน์พื้นฐานคุ้มครอง 5 กรณี คือ เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อเจ็บป่วย เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อทุพพลภาพ เงินค่าทำศพ เงินบำเหน็จชราภาพ และเงินสงเคราะห์บุตร
สิทธิประโยชน์ที่ได้รับ
1. เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อเจ็บป่วย กรณีหากเจ็บป่วยและนอนโรงพยาบาลให้อยู่ที่ 300 บาท/วัน กำหนดไม่เกิน 90 วันต่อปี ส่วนกรณีถ้าไม่นอนโรงพยาบาลแต่แพทย์สั่งให้หยุดงานตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป จะได้รับเงินชดเชยวันละ 200 บาท ไม่เกิน 90 วันต่อปี และกรณีที่แพทย์สั่งให้หยุดพักไม่เกิน 3 วันจะได้ครั้งละ 50 บาท ไม่เกิน 3 ครั้งต่อปี
2. เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อทุพพลภาพ ได้รับเงินทดแทน 500-1,000 บาท/เดือน ตลอดชีวิต โดยมีเงื่อนไข คือ
- จ่ายเงินสมทบครบ 6 เดือน ภายใน 10 เดือน ก่อนเป็นผู้ทุพพลภาพ จะได้รับเงินทดแทน 500 บาท/เดือน
- จ่ายเงินสมทบครบ 12 เดือน ภายใน 20 เดือน ก่อนเป็นผู้ทุพพลภาพ จะได้รับเงินทดแทน 650 บาท/เดือน
- จ่ายเงินสมทบครบ 24 เดือน ภายใน 40 เดือน ก่อนเป็นผู้ทุพพลภาพ จะได้รับเงินทดแทน 800 บาท/เดือน
- จ่ายเงินสมทบครบ 36 เดือน ภายใน 60 เดือน ก่อนเป็นผู้ทุพพลภาพ จะได้รับเงินทดแทน 1,000 บาท/เดือน
3. ได้รับเงินค่าทำศพ จำนวน 50,000 บาท โดยต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้ว 1 เดือน ภายในระยะเวลา 6 เดือน ก่อนเดือนถึงแก่ความตาย
4. ได้รับเงินสงเคราะห์บุตร 200 บาท/เดือน ต่อบุตร 1 คน ตั้งแต่แรกเกิด จนถึงอายุไม่กิน 6 ปีบริบูรณ์ สามารถใช้สิทธิ์ได้คราวละไม่เกิน 2 คน โดยต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน ภายในระยะเวลา 36 เดือน ก่อนเดือนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน
5. ได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ ซึ่งจะได้รับเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ และลาออกจากการเป็นผู้ประกันตน และได้รับเงินบำเหน็จที่สะสมไว้เดือนละ 150 บาทพร้อมดอกผล โดยสามารถจ่ายเงินสมทบเพิ่มเติมได้ไม่เกิน 1,000 บาท/เดือน อีกทั้ง เมื่อจ่ายครบ 180 เดือน รับเงินก้อนอีก 10,000 บาท
--------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ : การจ่ายเงินสมทบของผู้ประกันตนมาตรา 40 จ่ายเป็นรายเดือน เดือนละ 1 ครั้ง และจ่ายเงินสมทบล่วงหน้าได้ครั้งละไม่เกิน 12 เดือน แต่ไม่สามารถจ่ายเงินสมทบย้อนหลังได้
ประกันสังคม มาตรา 40 สามารถยื่นลดหย่อนภาษีได้ไหม
เงินสมทบในแต่ละปีสามารถนำไปใช้ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยใช้ใบเสร็จรับเงินที่ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบเป็นหลักฐาน หรือขอหนังสือรับรองการชำระเงินสมทบได้จากสำนักงานประกันสังคม
ประกันสังคม มาตรา 40 สมัครอย่างไร
สำหรับใครที่มองเห็นสิทธิประโยชน์ดี ๆ และต้องการที่จะสมัครประกันสังคม มาตรา 40 สามารถดำเนินการสมัครด้วยตนเองโดยสมัครใจ มีรายละเอียดการยื่นใบสมัคร ผู้ประกันตนมาตรา 40 ดังนี้
1. ต้องยื่นใบสมัครตามแบบคำขอเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 (แบบ สปส. 1-40)
2. สถานที่ยื่นใบสมัคร
- กรุงเทพฯ : ยื่นได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ (ยกเว้นสำนักงานใหญ่ในบริเวณกระทรวงสาธารณสุข)
- ภูมิภาค : ยื่นได้ที่สำนักงานประกันสังคมจังหวัดและสำนักงานประกันสังคมจังหวัดสาขา
- หน่วยบริการเคลื่อนที่ของสำนักงานประกันสังคม
3. หลักฐานการสมัคร
- บัตรประจำตัวประชาชนหรือสำเนาบัตรประชาชน พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง หรือบัตรอื่นที่ใช้แทนบัตรประจำตัวประชาชน
- แบบคำขอสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 (สปส.1-40)
--------------------------------------------------------------------------
วิธีการจ่ายเงินสมทบมาตรา 40
สามารถจ่ายเงินสมทบได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา หน่วยบริการเคลื่อนที่ของสำนักงานประกันสังคม รวมถึงเคาน์เตอร์เซอร์วิส เคาน์เตอร์ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เคาน์เตอร์ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ห้างเทสโก้ โลตัส และจ่ายเป็นธนาณัติผ่านทางไปรษณีย์ นอกจากนี้ยังสามารถหักผ่านบัญชีธนาคารต่าง ๆ ตามนี้
- ธนาคารเพื่่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
- ธนาคารออมสิน
- ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
ประกันสังคม มาตรา 40 อยากเปลี่ยนทางเลือกทำได้ไหม
เราสามารถยื่นขอเปลี่ยนทางเลือกจ่ายเงินสมทบได้ที่สำนักงานประกันสังคม ปีละ 1 ครั้ง โดยเมื่อยื่นขอเปลี่ยนแปลงทางเลือกแล้วจะมีผลในเดือนถัดไป
ได้ข้อมูลครบถ้วนกันไปแล้วสำหรับประกันสังคม มาตรา 40 ซึ่งถือว่าเป็นสิทธิประโยชน์ดี ๆ ที่เอื้อให้แก่กลุ่มแรงงานนอกระบบเป็นอย่างมาก เพราะหากวันหนึ่งเราเกิดเจ็บไข้ได้ป่วย หรือเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นมา ก็จะได้มีเงินประกันสังคมที่เราจ่ายไปในทุก ๆ เดือน กลับมาดูแลคุ้มครองเราได้ ส่วนใครที่กังวลว่า ถ้าสมัครเป็นผู้ประกันตนแล้ว จะไปกระทบกับสิทธิการรักษาพยาบาล 30 บาทรักษาทุกโรค ทางสำนักงานประกันสังคมก็ออกมายืนยันแล้วว่าเป็นคนละส่วนกัน และไม่กระทบกับสิทธิ 30 บาทอย่างแน่นอน
สำหรับผู้ที่ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันสังคม มาตรา 40 สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานประกันสังคม หรือโทร. 1506
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น